Alocasia Turning Yellow

ทำไม… อโลคาเซีย (Alocasia) ถึงใบเหลือง !?

เกี่ยวกับพืชในกลุ่ม อโลคาเซีย

พืชในกลุ่มอโลคาเซียเป็นไม้ที่พบได้ในธรรมชาติแถบเอเชียและออสเตรเลีย มักขึ้นในป่าดิบชื้นหรือตามริมแหล่งน้ำ เป็นพืชที่มีลักษณะและลวดลายของใบที่สวยงาม โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างพืชกลุ่มอโลคาเซีย อาทิเช่น แก้วสารพัดนึก (Alocasia amazonica ‘Dwarf’) อโลคาเซียม้าลาย (Alocasia ‘Zebrina’) อโลคาเซียหูช้าง (Alocasia ‘Sarian’) อโลคาเซียหางกระเบน (Alocasia ‘Stingray’) เป็นต้น

ด้วยความสวยงามนี้จึงครองใจนักปลูกไม้ใบหลายๆท่าน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะดูแลเป็นอย่างดีแต่เราก็มักพบว่าพืชตระกูลนี้มักจะมีอาการใบเหลืองอยู่เป็นประจำ ในบทความนี้เราจะมาอธิบายถึงสาเหตุที่ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในพืชกลุ่มอโลคาเซียกันค่ะ

1. อายุของใบ

สาเหตุอันดับต้นๆของอาการใบเหลืองโดยทั่วๆไปคือการผลัดใบแก่ทิ้งไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามปกติเมื่อต้นไม้มีอายุมากขึ้น และไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ

2. การได้รับน้ำที่มากเกินไป

อาการใบเหลืองในพืชกลุ่มอโลคาเซียโดยส่วนใหญ่มักมาจากการได้รับน้ำที่มากเกินไป ถึงแม้ว่าอโลคาเซียจะเป็นพืชที่ชอบความชื้นแต่หากเรารดน้ำมากเกินไปจนวัสดุปลูกชื้นแฉะและมีน้ำขังก็อาจทำให้รากเน่าได้ ซึ่งการที่ใบกลายเป็นสีเหลือง-น้ำตาลกระจายไปทั่วใบเป็นอาการบ่งชี้ในระยะเริ่มต้นของโรครากเน่า หากปล่อยไว้จนอาการลุกลามอาจทำให้ต้นไม้ของเราตายได้ค่ะ

ข้อแนะนำ : ควรผสมวัสดุปลูกที่ช่วยเพิ่มความโปร่งให้กับดิน เช่น เพอร์ไลท์, หินภูเขาไฟ และเลือกปลูกในกระถางหรือภาชนะที่มีรูระบายน้ำอย่างเพียงพอ และหมั่นเทน้ำขังในจานรองทิ้งทุกครั้งหลังรดน้ำค่ะ

3. ความชื้นในอากาศที่ไม่เพียงพอ

อโลคาเซียเป็นพืชที่เติบโตได้ดีท่ามกลางความชื้นในอากาศประมาณ 60%-70% ดังนั้นการปลูกเลี้ยงอโลคาเซียในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นต่ำ(น้อยกว่า 50%) อาจเป็นสาเหตุของใบหมอง ไม่เงางามได้ค่ะ

ข้อแนะนำ : เราอาจเปลี่ยนตำแหน่งที่วางต้นอโลคาเซียไปยังที่ๆมีความชื้นเช่น ห้องน้ำ ห้องครัว(ควรคำนึงถึงแสงสว่างในสถานที่นั้นๆด้วยนะคะ) หรืออาจวางไว้ใกล้กับเครื่องพ่นไอน้ำเพื่อเพิ่มความชื้น และอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้คือการวางกระถางบนจานรองที่มีเม็ดดินเผาหล่อน้ำไว้(ระดับของน้ำจะต้องไม่สูงไปกว่าเม็ดดินเผา) เพื่อให้น้ำระเหยขึ้นมาเพิ่มความชื้นให้กับต้นอโลคาเซียของเราค่ะ

4. แสงสว่าง

แสงสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ใบของพืชในกลุ่มอโลคาเซียเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถึงแม้ว่าอโลคาเซียจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของพืชที่ชอบแสงแบบรำไรเนื่องจากตามธรรมชาติแล้วเป็นพืชที่เติบโตภายในร่มเงาของต้นไม้ชนิดอื่นๆในป่า แต่การปลูกเลี้ยงภายในบ้านที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอก็มักจะทำให้อโลคาเซียใบเหลืองได้ อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าอโลคาเซียที่เราเลี้ยงใบซีด หมอง ดูไม่สดใส หรือเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเราสามารถแก้ไขได้โดยย้ายต้นอโลคาเซียไปวางใกล้กับหน้าต่างหรือมุมที่สว่างมากขึ้นค่ะ(แต่ต้องไม่โดดแดดจัดส่องโดยตรง เนื่องจากจะเป็นสาเหตุของใบไหม้ได้ค่ะ)

5. อุณหภูมิ

หากอโลคาเซียที่เราเลี้ยงมีใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและดูทรุดโทรม อาจเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิในบริเวณที่ปลูกเลี้ยงต่ำเกินไปค่ะ เนื่องจากอโลคาเซียเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในเขตอบอุ่น (18-29c) และไม่สามารถทนต่อความหนาวเย็น(ต่ำกว่า 13c) ฉะนั้นการปลูกเลี้ยงในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมมักทำให้อโลคาเซียไม่งอกงามเท่าที่ควรค่ะ

ข้อแนะนำ : หลีกเลี่ยงการปลูกเลี้ยงในบริเวณที่มีอุณหภูมิเย็นจัด และหากต้องการย้ายไปยังที่ๆอุณหภูมิสูงขึ้นควรค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิทีละนิดเพื่อให้ต้นอโลคาเซียได้มีการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่ค่ะ

6. การปนเปื้อนของน้ำ

คุณภาพของน้ำส่งผลต่อใบของอโลคาเซียได้เช่นกัน การใช้น้ำที่มีแร่ธาตุมากจนเกินไปหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีมักเป็นสาเหตุของใบจุด ใบเหลือง ปลายใบไหม้ และใบหมอง ดูไม่สดใส

ข้อแนะนำ : เลือกใช้น้ำดื่ม(ที่ไม่ใช่น้ำแร่) น้ำกรอง หรือน้ำฝน หรือหากต้องใช้น้ำประปาแนะนำให้รองใส่ภาชนะที่ไม่ปิดฝา วางทิ้งไว้ 2-3 วันเพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปก่อนนำมาใช้งาน

7. แมลงศัตรูพืชรบกวน

แมลงศัตรูพืช สัตว์ที่เป็นต้นเหตุสร้างความเสียหายทำให้ต้นไม้แห้งเหี่ยวและตายได้ สร้างความรำคาญใจแก่นักปลูกต้นไม้หลายๆท่าน แมลงที่มักพบในพืชกลุ่มอโลคาเซียได้แก่ เพลี้ยแป้ง ไรแดง และเพลี้ยอ่อน ซึ่งกลุ่มแมลงเหล่านี้จะคอยดูดน้ำเลี้ยงจากเซลพืชส่งผลให้ใบพืชขาดน้ำและก่อให้เกิดจุดเล็กๆสีขาวหรือสีน้ำตาลบนใบ ใบซีดเหลือง และเกิดอาการใบหงิก เหี่ยวและตายในที่สุด

ข้อแนะนำ : เพื่อเป็นการป้องกันแมลงศัตรูพืช ควรหมั่นเช็ดใบด้วยผ้าชุบน้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัดแมลงที่อาจติดมากับฝุ่นละอองต่างๆและคอยหมั่นสังเกตุรอยโรคตามใบ  หากพบว่ามีแมลงรบกวนแนะนำว่าควรแยกต้นที่มีแมลงรบกวนออกจากต้นอื่นๆเพื่อป้องกันการลุกลาม ใช้น้ำสะอาดล้างก้านและใบเพื่อให้แมลงหลุดออกให้ได้มากที่สุดและใช้ผ้าชุบน้ำที่ผสมกับน้ำยาล้างจานอ่อนๆเช็ดให้ทั่วทั้งใบและก้านที่พบแมลง ทำซ้ำทุกๆ 4-6 วัน ทั้งหมด 3-4 ครั้ง จนกว่าแมลงจะถูกกำจัดไปจนหมดค่ะ (วิธีนี้เป็นวิธีเบื้องต้นที่ไม่เป็นพิษต่อที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม)

8. การให้ปุ๋ยมากจนเกินไป (ดินเค็ม)

การที่ต้นอโลคาเซียได้รับปุ๋ยมากจนเกินไปสามารถส่งผลให้ปลายใบและขอบใบไหม้ ใบเหลืองและต้นตายได้ หากเราสงสัยว่าอาการใบเหลืองของต้นอโลคาเซียที่เราปลูกเลี้ยงอาจมีที่มาจากการได้รับปุ๋ยมากจนเกินไป เราสามารถแก้ไขปัญหาดินเค็มเบื้องต้นได้โดยการรดน้ำต้นไม้ของเราให้ดินชุ่มและให้น้ำระบายทิ้งออกทางก้นกระถางเพื่อเจือจางปุ๋ยและแร่ธาตุส่วนเกินในดินทิ้งไป (สามารถทำได้ทุกๆ 1-2 เดือน) และควรเว้นระยะห่างในการให้ปุ๋ยมากขึ้น เช่น จากทุกๆ 2 เดือน เปลียนเป็นทุกๆ 3-4 เดือน และคอยสังเกตุว่าอาการใบเหลืองละใบใหม้ยังคงลุกลามหรือไม่ค่ะ และเราสามารถเลือกใช้ปุ๋ยชนิดเม็ดละลายช้าและใส่ในปริมาณที่น้อยๆก่อน โดยปุ๋ยชนิดนี้จะค่อยๆปล่อยสารอาหารแก่ดินทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการได้รับปุ๋ยที่มากจนเกินไปค่ะ

ข้อแนะนำ : อโลคาเซียมักมีช่วงพักตัวในฤดูหนาวซึ่งมักจะไม่ต้องการการบำรุงเป็นพิเศษ ผู้ปลูกเลี้ยงสามารถเว้นการให้ปุ๋ยในช่วงนั้นไปก่อนและสามารถให้ปุ๋ยอีกครั้งหลังจากหมดช่วงพักตัวค่ะ


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกท่านเพื่อเป็นแนวทางในการปลูกเลี้ยงพืชในกลุ่ม Alocasia กันนะคะ แล้วพบกันใหม่กับบทความหน้าค่ะ

SHOPEE LOGOสนใจเข้าชมร้านค้าปลีกของเราใน Shopee 


แชร์หน้านี้